เคล็ดลับการสร้างแบรนด์บน Instagram

เคล็ดลับการสร้างแบรนด์บน Instagram

22/10/2021



เคล็ดลับการสร้างแบรนด์บน Instagram 


สำหรับ Instagram นับว่าเป็น social media ที่ทรงพลังอย่างมาก เนื่องจากมีผู้ใช้งานมากกว่า 800 ล้านคนทั่วโลกและเพิ่มขึ้นทุกๆวัน ซึ่ง Instagram นั้นไม่เพียงแต่ทำการตลาดได้ แต่ยังสามารถจบการขายได้เลยทีเดียว ดังนั้น การทำการตลาดหรือสร้างแบรนด์บน Instagram ให้ดีนั้นมีผลอย่างมาก จะต้องมีการวางแผนหรือการหาข้อมูลเพื่อที่เราจะได้รู้ว่าควรจะต้องเริ่มทำอะไรกับ Instagram ซึ่ง Instagram นั้นไม่ได้มีเครื่องมือให้เหมือน Facebook สำหรับในการเรียนรู้ข้อมูลผู้บริโภคหรือกลุ่มที่สนใจ  




เคล็ดลับการสร้างแบรนด์บน Instagram เพื่อสร้างยอดขายที่มากขึ้น สร้างแบรนด์ให้มีประสิทธิภาพและสามารถเติบโตได้ในปี 2021 นี้  จะมีเคล็ดลับอะไรบ้าง ตามไปดูกันเลยค้า….



เคล็ดลับที่ 1 เรื่องของความน่าเชื่อถือ ต้องบอกเลยว่ามีโอกาสน้อยมากที่แบรนด์น้องใหม่จะเป็นแบรนด์แรกที่ขายสินค้านั้น ๆ บนช่องทางอินสตราแกรม ด้วยสื่อมีเดียบนออนไลน์ในยุคนี้ทำให้ลูกค้าเข้าถึงร้านค้าได้อย่างง่าย รวมไปถึงการสร้างร้านของพ่อค้าแม่ค้าเองด้วยเช่นกัน จึงทำให้มีคู่แข่งหรือตัวเลือกเยอะขึ้น 
ดังนั้น ความน่าเชื่อถือของแบรนด์จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ลูกค้ามี Brand Loyalty และรู้จักกับแบรนด์มากยิ่งขึ้น การมีตัวตนอยู่จริงจะช่วยเสริมยอดขายได้ ซึ่งการสร้างร้านค้าบน IG สามารถทำได้ง่าย ๆ  

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการสร้างร้านค้าบน Instagram

- การตั้งชื่อแบรนด์หรือชื่อบัญชีที่เป็นทางการ ต้องมีความชัดเจน เข้าใจง่าย เพราะว่าชื่อบัญชีเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้ลูกค้าค้นหาแบรนด์ของเราได้ง่ายขึ้น และเข้าใจได้ทันทีว่าขายสินค้าหรือบริการอะไร 
- ภาพโปรไฟล์ต้องเชื่อมโยงกับแบรนด์สินค้า ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่นิยมใช้โลโก้ของแบรนด์ หรือตัวอักษรย่อของชื่อแบรนด์เป็นภาพโปรไฟล์ เพื่อสร้างความจดจำให้กับลูกค้า เช่น LYN, charles&keith เป็นต้น
- คำอธิบายในส่วนโปรไฟล์ ต้องครอบคลุมภายใน 150 ตัวอักษร คือ การอธิบายข้อมูลของแบรนด์ ให้กระชับตรงไปตรงมากที่สุด และระบุช่องทางการติดต่อเพิ่มเติม เช่น มีลิงก์เว็บไซต์หลัก, ไลน์แอท (Line@) และเบอร์โทร เป็นต้น



เคล็ดลับที่ 2 Content ที่สร้างสรรค์และน่าสนใจ มีการเล่าเรื่องผ่านภาพได้ดี เนื่องจากอินสตาแกรม คือ ช่องทางที่เน้นรูปภาพสวย ๆ ดังนั้น การให้ข้อมูลสินค้าหรือบริการต้องสร้างสรรค์ เลือกรูปภาพที่ดีที่สุด ที่สามารถสะกดสายตาลูกค้าได้ตั้งแต่วินาทีแรกที่พบเห็น

ซึ่งสิ่งสำคัญของคอนเทนต์ มี 3 ส่วนด้วยกัน 

1. รูปภาพหรือวิดีโอ ที่ใช้เป็นการสื่อสารหลักของแบรนด์ ต้องเลือกขนาดที่เหมาะสมกับรูปภาพ 
- ภาพถ่าย Landscape หรือวิดีโอแบบแนวนอน ที่มีอัตราส่วน 1.91:1 หรือขนาด 1200×628 เช่น ภาพถ่ายวิว เป็นต้น ซึ่งเหมาะกับการสร้างแบรนด์เกี่ยวกับการนำเสนอสถานที่หรือบริการท่องเที่ยว 
- ภาพถ่ายปกติ หรือหรือวิดีโอขนาดสีเหลี่ยมจัตุรัส ที่มีอัตราส่วน 1:1 หรือ (1080×1080) ซึ่งรูปภาพขนาด 1:1 เป็นขนาดที่นิยมใช้กันมากที่สุด 
- ภาพถ่ายบุคคลหรือวิดีโอในแนวตั้ง ที่มีอัตราส่วน 4:5 หรือ (1080×1350) ที่เน้นการถ่ายแบบแฟชั่น เห็นนายแบบหรือนางแบบที่พรีเซ็นสินค้า เช่น แบรนด์ Dior, Gucci เป็นต้น

2. ข้อความหรือตัวอักษรที่อยู่ในภาพ ควรจัดวางตำแหน่งให้ดี ไม่ให้บดบังภาพสินค้า ต้องไม่ใหญ่เกินไป เน้นสีสันที่ชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชื่อสินค้า ราคา และโปรโมชั่นเท่านั้น 

3. แคปชั่นหรือคำบรรยายใต้ภาพ สามารถโพสต์ข้อความได้ 2,200 ตัวอักษร แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องโพสต์เต็มจำนวนอักษร เพราะต่อให้โพสต์ยาวแค่ไหน ระบบก็จะแสดงเพียง 3-4 บรรทัดแรกเท่านั้น แนะนำให้ร่างข้อความหรือเรียบเรียงคำให้กระชับและเข้าใจง่ายที่สุดก่อนโพสต์ ซึ่งมีผลสำรวจระบุว่า การโพสต์ข้อความที่ไม่ยาวเกิน 40 ตัวอักษร จะเพิ่มการมองเห็นได้มากขึ้น 86% ที่สำคัญอย่าลืมใส่แฮชแท็กที่เกี่ยวกับสินค้า เพื่อเพิ่ม Engagement ได้



เคล็ดลับที่ 3  โพสต์ช่วงเวลาไหนถึงจะเวิร์ค Instagram ค่อนข้างมีการกระจายเวลามากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพราะด้วยมีฟีเจอร์ยอดนิยมอย่าง IG Story ที่ง่ายต่อการโพสต์ และเชื่อมต่อได้ตลอดเวลา จึงทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย 

- ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการโพสต์ คือ 11.00 น., 13.00 น.–14.00 น., 18.00 น. และ 21.00 น.
- ช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสำหรับการโพสต์ คือช่วงเวลาก่อน 06.00 น. และหลัง 21.00 น. ของทุกวันๆ
- วันที่เหมาะสำหรับการโพสต์ คือ วันธรรมดา และขอแนะนำเป็นวันพุธ-วันศุกร์ โดยที่วันพฤหัสจะมียอด Engagement ดีที่สุด
- ส่วนวันที่ไม่แนะนำคือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะมียอด Engagement น้อยที่สุด เพราะทุกคนจะต่างออกไปเที่ยวและลงโซเชียวของตนเองมากกว่า 

ซึ่งตารางเวลานี้ไม่ตายตัว สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดตามข้อมูลที่เราศึกษาได้จากพฤติกรรมของผู้บริโภคนั่นเองค่ะ 



เคล็ดลับที่ 4  การเรียนรู้จาก Data เนื่องจากการศึกษาข้อมูลแบบ Insight จะบอกถึงสิ่งที่แบรนด์ควรปรับปรุง และสามารถเข้าไปดูได้ว่าโพสต์ไหนปัง โพสต์ไหนพัง ซึ่งข้อมูลจะบอกทั้ง Reach และ Engagement คือ การเข้าถึงและการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ เช่น โพสต์ไหนมีการกดไลค์เท่าไร การรับชมเท่าไร เข้าชมโปรไฟล์เยอะไหม หรือมีการแตะปุ่มข้อความ หรือส่งเมลบ้างหรือเปล่า เป็นต้น

ซึ่งการเรียนรู้จากข้อมูลจะทำให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาแบรนด์ไปในทางที่ดี และทำการตลาดมี Engagement เพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการกดบันทึกโพสต์หรือ Saveโพสต์ คือ รูปแบบใหม่ของการกด Like ในไอจี เพราะเป็นตัวชี้วัดที่มองข้ามไม่ได้ 

ฟีเจอร์ Save เป็นเหมือนที่คั่นหนังสือของผู้บริโภคหรือผู้ใช้งาน Instagram เพื่อเป็นข้อมูลที่จะย้อนกลับมาดูทีหลังได้ ซึ่งโพสต์ไหนที่มีการ Save เยอะแสดงว่าผู้ใช้งานจะกลับมาหาสั่งซื้อสินค้าอย่างแน่นอน ยิ่งศึกษาหรือติดตาม data ทุกวัน การสื่อสารของแบรนด์ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพที่ดีมากขึ้น



เคล็ดลับที่ 5 คือ ความสม่ำเสมอ หลายแบรนด์ที่เพิ่งสร้างหรือเปิดไอจีไม่แต่รู้สึกว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะขาดสิ่งนี้ ทำไมต้องมีความสม่ำเสมอในการสร้างคอนเทนต์หรือลงสินค้าบนโซเชียล เช่น แบรนด์ร้านอาหารหรือรีวิวของกิน ก็ต้องยึดแนวทางการลงคอนเทนต์เกี่ยวกับอาหาร ไม่เปลี่ยนสินค้าหรือบริการในการนำเสนอลูกค้า เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนกับลูกค้า เป็นต้น

และความสม่ำเสมอยังรวมถึงเวลาในการโพสต์ หรือเวลาไลฟ์อีกด้วย เพราะนั่นคือการสร้างภาพจำง่าย ๆ ว่าแบรนด์ที่เขาติดตามจะโพสต์ในช่วงเวลาไหน และไลฟ์สดขายสินค้าเวลาไหนเป็นประจำ 


ฉะนั้น การสร้างแบรนด์บนช่องทางไอจีสามารถทำได้กับทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจอาหาร, ธุรกิจแฟชั่น, ธุรกิจความงาม, ธุรกิจท่องเที่ยว, ธุรกิจรถยนต์, ธุรกิจประกันภัย
ธุรกิจเพื่อการศึกษา หรือธุรกิจอื่น ๆ ที่ต้องการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก จดจำ นำเสนอเรื่องราว สินค้าบริการและผลิตภัณฑ์ดี ๆ สู่โลกออนไลน์ แต่หากจะใช้แพลตฟอร์มบนอินสตาแกรมเพื่อสร้างยอดขาย อาจจะเหมาะกับบางธุรกิจเท่านั้น เช่น แฟชั่น ความสวยงาม ของใช้น่ารัก และเสื้อผ้า เป็นต้น  มากกว่าธุรกิจอื่น ๆ  

อัพเดทความรู้การขายออนไลน์